คุยกับ QuTE ทีมนักพัฒนาชาวไทย กับการค้นคว้า Quantum Computing – ปัจจัยอะไรที่จะพา Deep Tech นี้ให้เติบโตต่อไปได้ 

ทุกวันนี้ แม้ว่า Quantum Computing จะมีการพัฒนาอยู่ในขั้น Early Stage แต่ Deep Tech ตัวนี้กลับได้รับความสนใจอย่างมากจากหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเอกชนอย่างบริษัทไอที ไปจนถึงรัฐบาลของประเทศชั้นนำ โดยวิธีการที่บริษัทและประเทศต่างๆ ใช้ คือ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา นับเป็นวิธีการที่น่าสนใจโดยเฉพาะกับการค้นคว้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พลังอะตอมในประเทศไทย เพื่อไล่ตามยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ แต่การศึกษา Quantum Computing ในปัจจุบันเป็นอย่างไร และประเทศไทยจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน Digital Ventures จะพาไปสำรวจประเด็นนี้ร่วมกับ QuTE ทีมนักพัฒนา Quantum Computing ชาวไทย

การพัฒนา Quantum Computing ให้ไปได้ไกล ควรเริ่มจากตรงไหน

ภาคการศึกษากับการพัฒนา Quantum Computing ให้ไปได้ไกล

ในการค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ที่ผ่านมา ภาคส่วนที่ริเริ่มการพัฒนามาตลอดคือภาคการศึกษา ซึ่งเทคโนโลยีที่เราเห็นทุกวันนี้มาจากการผสานความรู้จากหลากศาสตร์ผสมผสานกัน ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งที่รวมเอาผู้เชี่ยวชาญหลายศาสตร์อยู่ในที่เดียว และมีระบบการทำงานที่เหมาะสมตั้งแต่การริเริ่มทดลองไปจนถึงนำความรู้ที่ได้พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน ดังนั้น การค้นคว้าเทคโนโลยีระดับ Early Stage อย่าง Quantum Computing จึงต้องมามองกันที่ภาคการศึกษาเป็นอันดับแรก และเสริมด้วยการให้โอกาส สร้างพื้นที่และ Facility ที่เหมาะสม พร้อมกับความร่วมมือจากภาคส่วนที่สำคัญอื่นๆ

ตัวอย่างการค้นคว้า Quantum Computing จากภาคการศึกษาในต่างประเทศ

ถึงแม้ในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีการเปิดสาขาวิชาเพื่อศึกษา Quantum Computing โดยเฉพาะ แต่เกิดจากพัฒนาความรู้จากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญสาขาคอมพิวเตอร์กับควอนตัมฟิสิกส์ รวมถึงสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงก่อตั้งหน่วยงานเฉพาะ เพื่อจัดทำข้อมูลและพัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อให้ผู้คนรู้จักเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ดังนี้

  • MIT เปิดหลักสูตร Quantum Computing MIT สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกจัดหลักสูตรการสอนด้าน Quantum Computing โดยรวมศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ พร้อมจับมือกับ IBM บริษัทไอทีที่มีพัฒนา Hardware ของ Quantum Computing โดยผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรจาก MIT แม้หลักสูตรนี้จะยังไม่ถึงขั้นปริญญา แต่ก็ถือเป็นการริเริ่มที่ดี
  • Institute of Quantum Computing โดย University of Waterloo สถาบันค้นคว้าที่เปิดขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พลังอะตอมโดยเฉพาะ ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน มีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับ Quantum Computing ในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
  • UC Berkley หลักสูตร Quantum Mechanics and Quantum Computation คอร์สอบรมออนไลน์ที่ออกแบบหลักสูตรโดย UC Berkley เน้นการปูพื้นการเข้าใจกลไกการทำงานของ Quantum Computing เพื่อพร้อมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในอนาคต ซึ่งคอร์สนี้เปิดสอนฟรีสำหรับผู้สนใจทั่วโลก

นอกจากภาคการศึกษาแล้ว บริษัทเทคโนโลยีใหญ่อย่าง Microsoft ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้อย่างมาก ด้วยการเปิดศูนย์วิจัยด้าน Quantum Computing ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเพื่อรองรับการวิจัยในระยะยาว และคิดค้น Quantum Developer Kit เพื่อเป็นเครื่องมือทดลองสร้างแอปพลิเคชันบน Quantum Computing ซึ่งแอปพลิเคชันที่ทดลองสร้างขึ้นจะสามารถนำมาใช้ผ่าน Azure ระบบ Cloud ของ Microsoft ที่ใช้ Hardware ของ Quantum Computer เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สถานการณ์ภาคการศึกษากับการค้นคว้า Quantum Computing ในประเทศไทย

การพัฒนาสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทยก็เริ่มต้นด้วยทิศทางเดียวกัน คือ เริ่มต้นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ศึกษาและบุกเบิกก่อน เช่น สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทีม QuTE เป็นทีมพัฒนาเทคโนโลยี Quantum Computing รายแรกๆ ในไทย ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

สำหรับมุมมองต่อการพัฒนาการศึกษาค้นคว้า Quantum Computing ในประเทศไทยนั้น ทีม QuTE มองว่าการเผยแพร่ความรู้เรื่อง Quantum Computing สามารถเริ่มต้นกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้ทันที เพื่อให้พวกเขาให้ความสนใจและร่วมผลักดันการค้นคว้าได้ ทั้งนี้ QuTE ได้มองการสร้างพื้นฐานของการใช้งาน Quantum Computing ในประเทศไทยไว้หลายรูปแบบ ได้แก่

  • เผยแพร่ความรู้เรื่อง Quantum Computing เป็นภาษาไทย ทั้งรูปแบบคอร์สอบรมและทางสื่อต่างๆ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงง่าย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไป จนถึงการเขียนแอปพลิเคชันบน Quantum Computing ที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม
  • ให้คำปรึกษาการใช้ Quantum Computing แก่ภาครัฐและองค์กรธุรกิจ เพื่อแนะนำการใช้งานภายในองค์กรในฐานะผู้เชี่ยวชาญ การผลักดันเทคโนโลยีให้ใช้งานได้ในภาคธุรกิจส่งผลต่อความแพร่หลาย ส่วนภาครัฐก็ควรหันมาให้ความสนใจเทคโนโลยีซึ่งมีศักยภาพจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
  • ทดลองพัฒนา Quantum Simulator สำหรับการใช้ในงานวิจัย โดยเลือกการทำ Photonic Based Quantum Random Walk (การวัดผลจากกระบวนการสุ่มที่เกิดจากการเดินทางของโฟตอนในเครื่องมือเฉพาะบางอย่างและทำการวิเคราะห์ค่าปลายทางเพื่อหาคำตอบของปัญหาที่ต้องการ) ซึ่งจะใช้เวลาประมวลผลได้รวดเร็วกว่า โดยกระบวนการทดลองจะรวมถึงการจำลอง Software ของ Quantum Computing ลงใน Classical Computing หรืออาจสร้าง Specific Quantum Computing เพื่อรองรับการ Quantum Random Walk ซึ่งมีราคาถูกกว่าการสร้าง Universal Quantum Computing แบบที่องค์กรใหญ่สร้างกันอย่างมาก

 

การสนับสนุนเพื่อการพัฒนา Quantum Computing ในไทย

จากมุมมองของ QuTE นักวิชาการที่เริ่มศึกษาเรื่อง Quantum Computing อย่างจริงจังกลุ่มแรกๆ ของประเทศไทยนั้น มองว่าการจะผลักดันเทคโนโลยีนี้แพร่หลายกับคนไทยมากขึ้นนั้น ในช่วงแรกเริ่มนี้ ยังต้องการปัจจัยสนับสนุนใน 2 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน คือ

  • สนับสนุนช่องทางเผยแพร่ความรู้ ซึ่งสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น การจัดคอร์สอบรม หรือเรียบเรียงความรู้เผยแพร่ในช่องทางต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องรับการสนับสนุนเพื่อให้เข้าถึงและนำเสนอได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • สนับสนุนการเข้าถึง Community ด้าน Quantum Computing ในต่างประเทศ การสร้าง Community ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ การผลักดันให้คนไทยเข้าถึง Community จะช่วยเพิ่มความรู้และกระบวนการพัฒนาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเราได้

สำหรับปัจจัยหลักๆ ในระยะต่อไปของการพัฒนาคือการสนับสนุนการนำ Quantum Computing ไปใช้ในการพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านนวัตกรรม ภาคธุรกิจ หรือการเป็นส่วนหนึ่งของตัวเทคโนโลยีแก่นของการสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ทั้งในส่วน ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งแน่นอนว่าทุนวิจัยจากภาครัฐ และเอกชนที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตนี้

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีนั้นต้องอาศัยการศึกษาและต่อยอดองค์ความรู้เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่ง QuTE เป็นหนึ่งในกลุ่มนักพัฒนาด้าน Quantum Computing ที่เข้าร่วม U.REKA โครงการพัฒนานวัตกรรมจาก Deep Technology ที่ริเริ่มบนพื้นฐานของภาคการศึกษา นำโดย 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนั่นเอง ในโอกาสต่อไป Digital Ventures จะชวนผู้เข้าร่วมโครงการ U.REKA มาพูดคุยเกี่ยวกับ Deep Tech กันอีก อย่าลืมติดตามกัน

ที่มาของข้อมูล quantumcomputingreport.com, quantumcurriculum.mit.edu, uwaterloo.ca/institute-for-quantum-computing
ที่มาบทความ : คุยกับ QuTE ทีมนักพัฒนาชาวไทย กับการค้นคว้า Quantum Computing