คุยกับ ดร.อภิมุข นักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ทำงานด้าน noncommutative geometry

สวัสดีครับ วันนี้ทีม QuTE จะพาไปพูดคุยกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) หรือ รู้จักกันในชื่อ ดร.กล้า นะครับ

ขออนุญาติเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวหน่อยครับ เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอะไร และทำงานวิจัยทางด้านไหนตอนเรียน

ผมชื่อ อภิมุข วัชรางกูร นะครับ ชื่อเล่นชื่อกล้า ถิ่นกำเนิดอยู่อำเภอเถินเป็นพื้นที่กันดารระหว่างจังหวัดลำปาง กับจังหวัดตาก เป็นพื้นที่ที่อากาศร้อนเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ผมก็เรียนไปเรียนมาจนไปจบปริญญาเอกจาก King’s College London ถึงจะชื่อเป็น College แต่จริง ๆ แล้วเป็นมหาวิทยาลัย ตอนเรียนปริญญาเอกผมศึกษาคณิตศาสตร์สาขาใหม่ที่เรียกว่า noncommutative geometry แล้วก็จะพยายามจะเอามาใช้กับฟิสิกส์ โดยเฉพาะฟิสิกส์พลังงานสูง (Hign energy physics)

เหตุผลที่ทำให้คุณสนใจทำวิจัยทางด้านนี้

เหตุผลแรกคือไม่ค่อยมีใครทำ ไม่มีคนมาแย่งงานทำ จบมาให้ความรู้สึกเป็นฮิปส์เตอร์นิด ๆ เพราะทำไม่เหมือนชาวบ้าน อีกเหตุผลนึงคือ noncommutative geometry เป็นการศึกษาเรขาคณิตที่ต่างจาก classical geometry ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของ classical physics แต่สำหรับทฤษฎีควอนตัม เราจะมี geometry อะไรสักอย่างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของทฤษฎีหรือไม่? ตัวผมก็โดนชาวบ้านเป่าหูมาว่า noncommutative geometry อาจจะตอบคำถามนี้ได้

ผลงานตีพิมพ์ชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วเราเรียนรู้อะไรใหม่เพิ่มขึ้นจากผลงานชิ้นนี้

ชื่อ noncommutative geometrical origin of energy-momentum dispersion relation คือประมาณว่าความสัมพันธุ์ระหว่าง พลังงาน โมเมนตัม และมวล ที่เราคุ้นเคยกันในทฤษฎีสัมพัทธภาพ เป็นผลมาจาก noncommutative geometry สิ่งที่เรียนรู้ขึ้นมาก็คือ นอกจากอะไรที่เกี่ยวกับควอนตัมแล้ว เราอาจจะใช้ noncommutative geometry อธิบายฟิสิกส์พื้นฐานบางอย่างได้ด้วย

งานวิจัยที่คุณทำอยู่ถือได้ว่าเป็นต้นน้ำ(พื้นฐาน) กลางน้ำ(ส่งต่อ) หรือปลายน้ำ(นำไปใช้)

เป็นงานประเภทต้นน้ำครับ ถ้าทำคนเดียวก็คงมีน้ำพอให้ไหลไปเลี้ยงเห็ดเลี้ยงเฟิร์นที่ขึ้นใกล้ ๆ ตาน้ำ ศาสตร์พวกนี้จะให้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ต้องช่วยกันครับ วงการวิจัยบ้านเราขาดคนที่เป็นกลางน้ำมาก ต้นน้ำกับปลายน้ำเลยต่อกันไม่ติด น้ำเลยไหลไปอยู่บนหิ้งหมด ไม่ซึมลงมาถึงรากหญ้า แต่การวิจัยพื้นฐานมันเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการสร้างองค์ความรู้ของเราเอง มันจะนำไปสู่เทคโนโลยีของเราเอง 

แล้วคุณคิดว่างานวิจัยส่วนไหน(แบบไหน)สำคัญมากน้อยอย่างไร

ความสำคัญเป็นเรื่องเชิงคุณภาพครับ ในความคิดผมงานวิจัยของแต่ละกลุ่มมีคุณภาพไม่ได้ยิ่งหย่อนกันเลย ผมตอบไม่ได้จริง ๆ ว่าอันไหนสำคัญกว่า ผมอาจจะถามกลับว่า คำถามนี้ well-defined รึเปล่า แต่ถ้าถามอีกแบบเอาเชิงปริมาณ ผมว่าปริมาณที่เหมาะอาจจะเป็นเป็นแบบพีรามิด คือ ต้นน้ำ < กลางน้ำ < ปลายน้ำ เพราะการจะเอาแนวคิดที่พื้นฐานไปใช้ประโยชน์ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันง่าย ๆ ต้องมีคนเชี่ยวชาญในหลายด้าน ผมคนเดียวก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่างานผมจะเอาไปใช้ทำอะไร

ทิศทางของงานวิจัยในอนาคตที่คุณสนใจทำ

ตอนนี้กำลังสนใจ topological insulator อยู่ครับ เพราะว่าใช้คณิตศาสตร์แบบเดียวกันนี้อธิบายได้

 

สำหรับวันนี้ทางทีม QuTE ขอขอบคุณ ดร.กล้า มากๆนะครับที่เสียสละเวลามาพูดคุยกับเรา

ยังไงไว้เจอกันโอกาศหน้าต่อไปนะครับว่าเราจะพาไปทำความรู้จักกับนักวิจัยของไทย