สวัสดีเจ้า! วันนี้คลังนักวิจัยขอแนะนำนักฟิสิกส์ทฤษฎีสุดเท่ ผศ. ดร. สิขรินทร์ อยู่คง เจ้าของเพจฟิสิกส์หมาหมาและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีม QuTE ของเรา ใครอยากรู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลังของเขา ติดตามกันในบทสัมภาษณ์เลยครับ
ขออนุญาตให้แนะนำตัวเองหน่อยครับ เรียนจบโทกับเอกที่ไหนครับ ปัจจุบันทำงานอะไร
สวัสดีครับ ชื่อ สิขรินทร์ อยู่คง ครับ ชื่อเล่นชื่อ ริน ครับ เด็กๆเรียกว่า อ.ริน เรียนจบโทใบแรกจาก มหาวิทยาลัยมหิดลครับ จากนั้นไปต่อโทอีกใบที่มหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ และต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ช่วยอธิบายวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้ฟังหน่อยครับ
งานที่ทำตอนปริญญาเอกนั้นเป็นงานวิจัยในสาขาระบบคลาสสิกกัลอินทีเกรเบิลกับศาสตราจารย์ แฟรงก์ นีฮอฟฟ์ สิ่งที่เราสนใจคือความเป็นอินทีเกรเบิลของระบบหลายอนุภาคในหนึ่งมิติรู้จักกันชื่อระบบคาโลเจอโร-โมเซอร์ แต่ก่อนอื่นขออธิบายเจ้าคำว่าอินทีเกรเบิลก่อนว่าคืออะไร ปกติในกลศาสตร์เรามีสมการการเคลื่อนที่(ซึ่งได้มาจากกฏของนิวตัน)โดยอยู่ในรูปอนุพันธ์อันดับที่ 2 ของเวลา สิ่งที่เราสนใจคือการหาคำตอบของสมการการเคลื่อนที่ แน่นอนว่าหากว่าเราแก้สมการหาคำตอบได้แสดงว่าเราอินทีเกรทได้นั้นเอง (ในที่นี้โดยหลักการต้องทำการอินทีเกรท 2 ครั้งเพราะเรามีสมการอนุพันธ์อันดับที่ 2) ดังนั้นระบบไหนที่เราสามารถแก้สมการการเคลื่อนที่ได้ตรงๆเราเรียกระบบนั้นว่า ระบบอินทีเกรเบิล หรือ ระบบที่สามารถอินทีเกรทได้ ฟังดูแล้วเหมือนตรงไปตรงมา
แต่จริงๆแล้วระบบอินทีเกรเบิลนั้นเป็นของหายาก ระบบส่วนใหญ่ที่เรามีในฟิสิกส์(หรือคณิตศาสตร์)นั้นไม่เป็นระบบอินทีเกรเบิล ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบไหนเป็นระบบอินทีเกรเบิลจึงเป็นสิ่งที่นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์สนใจ โดยเฉพาะระบบที่มีความยุ่ง เช่น จำนวนองศาอิสระ N เยอะๆ หรือจำนวนอนุภาคเยอะๆในระบบ เพื่อตอบคำถามข้างต้นเราต้องการเครื่องมือ(ทางคณิตศาสตร์)ที่สามารถใช้ตรวจสอบ หากเราต้องการสร้างเครื่องมือดังกล่าวแล้วเริ่มจากสมการของนิวตันดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้เราได้ทำมากนัก แต่เรายังโชคดีที่เรายังมีทางเลือกในการศึกษาระบบกลศาสตร์ ทางเลือกนั้นคือ กลศาสตร์ของฮามิลตัน เรามีฮามิลตันฟังก์ชันหรือฮามิลโตเนียน(เป็นที่รู้กันว่าฮามิลโตเนียนเป็นตัวก่อกำเนิดการวิวัฒน์ไปในเวลา เห็นได้ชัดจากวงเล็บปัวซอง)ที่เป็นพระเอก (ทุกคนรู้ว่าตอนนี้เราทำงานกับฟังก์ขันสเกลาร์อยู่) ซึ่งเป็นฟังก์ขันของโมเมนตัน p และตำแหน่ง x (มองง่ายๆ) ในเซ็ตอัปนี้เรามีชุดสมการที่เรียกว่า สมการฮามิลตัน ซึ่งเป็นคู่ของการอนุพันธ์อันดับที่ 1 เทียบกับเวลา และเส้นทางการเคลื่อนที่ของระบบจะอยู่บนปริภูมิเฟส แน่นอนว่าเมื่อเราทำการยำผลของ 2 สมการเข้าด้วยกันเราจะได้สมการการเคลื่อนที่ของระบบ(อนุพันธ์อันดับที่ 2) เหมือนที่เราได้จากสมการของนิวตัน ตอนนี้ข้อดีอย่างหนึ่งที่เราเห็นคือเราทำงานกับสมการอนุพันธ์อันดับที่ 1 (แต่ 2N สมการ) แทนที่จะทำงานกับ N สมการอนุพันธ์อันดับที่ 2 แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่มีอะไรบอกเราว่าเราจะแก้สมการหาคำตอบจากสมการฮามิลตันได้เหมือนกัน
แต่เหมือนฟ้ายังมีตาครับ เรามีการแปลงแบบแคนโนนิคัลที่เราสามารถแปลงชุดของตัวแปรเก่า (p,x) ไปยังชุดตัวแปรใหม่ (P,X) โดยที่สมการฮามิลตันยังคงรูปเหมือนเดิน(แต่ภายใต้ชุดตัวแปรใหม่) ความน่าสนใจคือมันมีการแปลงแคนโนนิคัลแบบหนึ่งที่ทำให้ฮามิลโตเนียนเป็นฟังก์ชันของ P อย่างเดียวหรือตัวแปร X ไม่ปรากฏอยู่ในฮามิลโตเนียนซึ่งรู้จักกันในชื่อตัวแปรหมุนวน(ฮาาาแปลเอง งงเอง) ดังนั้นโดยหลักการ (เพื่อให้ง่ายพิจารณา N = 1) สมการฮามิลตันที่เราต้องการแก้จาก 2 สมการ จะลดเหลือแค่ 1 สมการของอนุพันธ์อันดับที่ 1 เพราะอีกสมการให้เราว่า P นั้นไม่เปลี่ยนไปกับเวลา ซึ่งสามารถแก้อินทีเกรทได้โดยตรง เมื่อเราแก้หาค่าของ (P,X) เราก็แค่แทนกลับการแปลงเราจะได้ (p,x) นั้นหมายความว่าเราแก้สมการเป็นที่เรียบร้อยได้คำตอบแม่นตรง ดังนั้นหากเมื่อไรที่เราเจอชุดการแปลงดังกล่าวเราสามารถบอกได้ทันที่ว่าระบบเราเป็นระบบอินทีเกรเบิล (แต่การได้มาซึ่งการแปลงดังกล่าวไม่มีระเบียนวิธีที่ชัดเจน พูดง่ายๆครับ เดาล้วนๆครับ) ชุดตัวแปร (P,X) นี้เรียกว่าตัวแปร แอ็กชัน-แองเกิล และทำให้เราได้ปริภูมิเฟสใหม่เป็นรูปทอรัสไม่แปรเปลี่ยน โดยกรณี N =1นี้ X เป็นตัวแปรมุมและ P คือรัศมี(คงที่) ทอรัสในที่นี้คือวงกลม (สำหรับกรณี N =2 เราจะได้รูปโดนัท กรณี N โตไปกว่านี้เราแสดงไม่ได้ล่ะ) จากองค์ความรู้พื้นฐานตรงนี้เงื่อนไขสำหรับการตรวจสอบระบบที่มีจำนวน N องศาอิสระว่าเป็นระบบอินทีเกรเบิลรู้จักกันในชื่อ
เงื่อนไขของลียูวิล-อาร์โนล นั้นต้องมี ตัวแปรแอ็กชัน N ตัว และ ตัวแปรแองเกิล N ตัว และแน่นอนว่าระบบต้องวิวัฒน์อยู่บนผิวของทอรัส N มิติ การที่เรามีตัวแปรแอ็กชัน N ตัวนั้นบอกเราว่าเรามีฟังก์ชันไม่แปรเปลี่ยนในการเคลื่อนที่ N ตัวในระบบซึ่งฮามิลโตเนียนเป็นหนึ่งในฟังก์ชันเหล่านี้ ทางเทคนิคแล้วเรามองว่าฟังก์ชันเหล่านี้คือฮามิลโตเนียนเหมือนกัน ดังนั้นเราจะมี N ฮามิลโตเนียน(หรือรู้จักกันในชื่อ ลำดับชั้นของฮามิลโตเนียน) หรือมี N ฟังก์ก่อกำเนิดการวิวัฒน์ อันที่จริงพูดง่ายๆเราอาจมองได้ว่าเรามีเวลา N ตัวในระบบ(คนอ่านตอนนี้อาจจะคือในใจว่า หือออ เวลา N ตัว ไงตอนนี้ให้ตามคณิตศาสตร์ไปก่อนเพื่อความสบายใจ) คำถามคือลำดับของเวลานั้นสำคัญมั้ยสำหรับระบบจะวิวัฒน์ไปบนปริภูมิเฟส คำตอบคือไม่สำคัญ ความสัมพันธ์นี้รู้จักกันในชื่อ การสลับได้ของลำดับเวลา ซึ่งถือว่าเป็น คุณลักษณะสำคัญของระบบอินทีเกรเบิลตามโครงสร้างฮามิลโตเนียน คือที่พูดมาทั้งหมดยังไม่ใช่งานตัวเองเลย ฮาาาาาา สำหรับงานที่ทำตอนปริญญาเอกนั้นเราตั้งคำถามว่า ความสัมพันธ์อะไรที่เป็นคู่กับการสลับได้ของลำดับเวลาตามมุมมองของกลศาสตร์ลากรองจ์ (เป็นที่รู้จักกันดีว่านอกจากกลศาสตร์ฮามิลโตเนียนแล้วเรายังมีกลศาสตร์ลากรองจ์ที่บรรยายฟิสิกส์ได้เหมือนกัน)
จริงๆสิ่งที่เราต้องการหาคือ ลำดับชั้นของลากรางเจียน จากนั้นนำไปศึกษาหาสมบัติบลาๆๆ ซึ่งความเป็นจริงดูเหมือนว่าจะหาจากลำดับชั้นของฮามิลโตเนียนโดยตรงจากการแปลงเลอร์จอง แต่ปัญหาคือการที่เรามีเวลาหลายตัวเลยไม่แน่ใจว่าหน้าตาของการแปลงเลอร์จองเป็นอย่างไร กระบวนการในการตามหาความสัมพันธ์ดังกล่าวเราอาศัยระบบเวลาไม่ต่อเนื่องของคาโลเจอโร-โมเซอร์ในการศึกษา(ระบบคาโลเจอโร-โมเซอร์เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นระบบอินทีเกรเบิล เรารู้สมบัติทางคณิตศาสตร์ของมัน ว่าง่ายๆเราเอามันอยู่มือ) และเหตุผลที่เราเริ่มต้นจากกรณีเวลาไม่ต่อเนื่องนั้นเพราะในกรณีนี้ระบบมีตัวแปลอิสระ 2 ตัว(ที่มาค่อนข้างเทคนิคคัลจึงขอละไว้)และเมื่อเราทำการพิจารณาลิมิตความต่อเนื่องไปที่ละตัวจนหมด สุดท้ายเราได้ ลำดับชั้นของลากรางเจียน จากนั้นเราพิจารณาหลักแปรผันแอ็กชัน(น้อยสุด) เราจะได้ชุดสมการออยเลอร์-ลากรองจ์ กับ สมการเงื่อนไข(เนื่องจากการมีอยู่ของเวลาหลายตัว) และสุดท้ายคือ สมการโคลเชอร์ระหว่างลากรางเจียน ซึ่งคือคู่ของการสลับได้ของลำดับเวลาได้นั้นเอง ซึ่งจากการศึกษาเราก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ผ่านโครงสร้างลากรางเจียนสำหรับทดสอบว่าระบบไหนเป็นระบบอินทีเกรเบิลหรือไม่
สุดยอดครับ ตัดสินใจอย่างไรถึงเลือกหัวข้อวิจัยดังกล่าวครับ
อันที่จริงต้องบอกเลยว่าตอนแรกนั้นตกลงกับอาจารย์ว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบสายโซ่คีตาฟอะไรทำนองนั้นเพราะอาจารย์เห็นว่าตอน ป โท ทำงานด้านควอนตัมข้อมูลมา แล้วอาจารย์ก็ให้เราไปหาหัวข้อเอง (ตอนนั้นคิดในใจ ถ้าตูมีตูจะมาเรียนทำไม แถมบอกอีกว่าอาจารย์ไม่ใช่เจ้านายดังนั้นจะไม่บังคับเราในเรื่องหัวข้อ ฮาาาาา คิดในใจได้โปรดบังคับตูเถอะ) บอกเลยว่าเครียดมากๆตอนปีแรกของการเรียนเอก เพราะต้องลองหลายอย่างและดูแล้วก็ไม่น่าจะไปได้ ที่อังกฤษตอนจบปีแรกนั้นนักเรียนต้องสอบปากเปล่าข้ามชั้น หากไม่ผ่านก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านทำนองนั้น ปรากฏว่าเราสอบไม่ผ่านเพราะกรรมการบอกว่างานที่เราจะทำมันยังไม่เห็นทิศทางชัดเจน มันเหมือนจับของมายำกัน(ยำใหญ่แบบแผ่นบูรณาการอะไรทำนองนั้น ฮาาาา) แต่เหมือนทำบุญมาดีพอสมควรกรรมการให้เวลาอีก 3 เดือนในการเตรียมตัวมาใหม่ บอกเลยว่าหัวฟูครับตอนนั้น ก็เลยตัดสินใจว่าน่าจะทำอะไรที่อาจารย์เราถนัด เราโอเค ก็เลยเลือกหัวข้อข้างต้น แต่จริงๆตอนเริ่มต้นไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมาลงเอยอย่างที่บรรยายไปเพราะเริ่มต้นตั้งคำถามเกี่ยวกับควอนตัมอินทีเกรบิลิตีแล้วเราก็เจอทางตันดังนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนทางทำไป อย่างว่างานวิจัยหากรู้ผลอยู่แล้วก็ไม่เรียกว่างานวิจัย
ช่วยอธิบายงานชิ้นโบว์แดงให้ฟังหน่อยครับ
ชิ้นโบว์แดงคำถามนี้น่าสนใจ ถ้าในมุมมองของเรานั้นก็น่าจะเป็นตอนนที่จบมาแล้วกลับมาทำงานใหม่ๆเราก็ยังคิดงานจากตอนเรียนเอกต่อเนื่องอยู่ สิ่งที่เจอต่อมาคือการแปลงเลอร์จองที่ถูกต้อง และสามารถเชื่อมระหว่างลำดับชั้นของฮามิลโตเนียนและลำดับชั้นของลากรางเจียน ซึ่งจากที่เราเจอความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้เราสามารถเขียนแอ็กชันในรูปของฮามิลโตเนียนได้ เมื่อเราทำการพิจารณาหลักการแปรผันบนปริภูมิเฟสจะได้ชุดสมการฮามิลตันและความสัมพันธ์การสลับได้ของลำดับเวลา ซึ่งสำหรับตัวเองถือว่าโอเคมากๆเพราะเป็นการเติมชิ้นส่วนให้ภาพใหญ่ออกมาสมบูรณ์
มีงานชิ้นโบว์แดงที่เกิดมาจากการทำงานที่ไทยไหมครับ คืออะไรครับ
จริงๆมีงานอีกชิ้นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆในมุมมองตัวเอง(คนอื่นอาจจะมองว่าไม่เห็นมีอะไร ทำไปเพื่ออะไร) คือ งานที่ทำกับนักเรียน บิ๊ก และ จัมป์กับบอส เรารู้ว่าลากรางเจียนนั้นมีรูปไม่แน่นอน เช่น เราสามารถบวกพจน์อนุพันธ์เทียบกับเวลาเข้าไปแต่ไม่ส่งผลต่อการแปรผันของแอ็กชันยังผลให้สมการออยเลอร์-ลากรองจ์อันเดิม และพอดีได้ไปอ่านงานชิ้นหนึ่งเข้า งานนั้นพวกเขาแก้สมการฮามิลตันแล้วได้ฮามิลโตเนียนตัวใหม่ออกมาซึ่งยังคงให้สมการการเคลื่อนที่เหมือนกันกับฮามิลโตเนียนปกติ แต่ฮามิลโตเนียนใหม่นี้มาพร้อมกับพารามีเตอร์ซึ่งการพิจารณาลิมิตของพารามีเตอร์นี้จะได้ฮามิลโตเนียนปกติกลับมา ก็เลยเอาให้บิ๊กดูแล้วให้คำถามบิ๊กไปว่าเราทำเหมือนกันได้หรือเปล่าสำหรับลากรางเจียนสำหรับระบบ 1 มิติ(เอาง่ายไว้ก่อน) จากนั้นเราก็เริ่มค้นหาคำตอบและเราก็พบว่าทำได้และมีพารามีเตอร์เหมือนกันและที่มากกว่านั้นคือเราเจอวิธีในการสร้างลากรางเจียนจำนวนอนันต์แบบ(ลำดับอนันต์ชั้นลากรางเจียน)ที่ยังคงให้สมการการเคลื่อนที่เดียวกันผ่านการกระจายลากรางเจียนเทียบกับพารามีเตอร์(แน่นอนว่าลากรางเจียนปกติเป็นสมาชิกแรกของลำดับอนันต์ชั้นลากรางเจียนนี้) จากนั้นเราก็หาลำดับอนันต์ชั้นฮามิลโตเนียนได้จากการแปลงเลอร์จอง และพบว่าฮามิลโตเนียนปกติเป็นสมาชิกแรก
ความน่าสนใจคือหน่วยของพารามีเตอร์คือ เมตร/วินาที ซึ่งคือหน่วยของความเร็ว และตอนที่เราทำการกระจายอนุกรมนั้นจริงๆเราทำเทียบกับพจน์ (มวล)(พารามีเตอร์)^2 ซึ่งมีหน่วยเป็นพลังงาน (ตอนแรกที่เราทำเราคิดว่าพารามีเตอร์นี้คือความเร็วแสง ดังนั้นเราจะได้อะไรที่เป็นสัมพัธภาพแต่ตอนหลังเราพบว่าไม่น่าจะใช่ เพราะเรายังได้สมการการเคลื่อนที่ที่ไม่ใช่สัมพัทธภาพอยู่) จากตรงนี้ทำให้มองได้ว่าฮามิลโตเนียนใหม่ที่ได้นั้นสัมพันธ์กับการปรับสเกลของพลังงาน ต่อมาจัมป์กับบอสพบว่าเราสามารถขยายแนวคิดและเราสามารถสร้างลากรางเจียนและฮามิลโตเนียนที่มีพารามีเตอร์อนันต์ตัวได้(ฮาาาาา ฟังดูแล้วทำไปเพื่อ) และแน่นอนว่ากรณีพารามีเตอร์ 1 ตัวเป็นกรณีพิเศษของตัวใหม่นี้ คำถามคือทำไมธรรมชาติถึงอนุญาติให้มีฮามิลโตเนียนและลากรางเจียนเกินความจำเป็นมากมายอนันต์แบบขนาดนี้สำหรับแค่ระบบ 1 มิติ คำตอบคือเราก็ยังไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามันมีอยู่ จริงๆก็บอกกับนักเรียนเสมอว่าถ้าคณิตศาสตร์มันอนุญาติให้ทำได้ก็ทำไปแล้วมาว่ากันในเรื่องความหมายทางฟิสิกส์(แต่หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้)
หลายคนหลีกเลี่ยงการเรียนฟิสิกส์ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเรียนก็ยาก หางานก็ยาก แต่ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ หรือ จีน เรียนจบฟิสิกส์นี่เนื้อหอมเป็นที่ต้องการตัวของบริษัทชั้นแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็น Google Facebook Alibaba หรือทำงานใน Wall Street ได้สบาย เพราะเขาเชื่อในความพยายามและความสามารถในการเรียนรู้หน้างานของนักเรียนฟิสิกส์ จบหลักสูตรยากแปลว่าต้องมีความอุตสาหะ รักความท้าทาย และต้องมีความสามารถในระดับหนึ่งล่ะ แต่ค่านิยมตะวันตกนี้แตกต่างจากค่านิยมปัจจุบันในไทยมาก ซึ่งเชื่อว่าคนที่จบวิทยาศาสตร์ต้องอยู่ตามห้องแลบเป็นเนิร์ด เงินเดือนน้อย คิดเห็นอย่างไรกับค่านิยมนี้ครับ
เรื่องนี้จริงมากๆครับเพราะเพื่อนฝรั่งที่จบเอกจากอาจารย์เดียวกันปัจจุบันนี้ทำงานในบริษัทการเงิน หรือเพื่อนที่เจอกันตามงานประชุมวิชาการตอนหลังไม่มาละเพราะว่าออกไปทำงานบริษัทกันหมด ได้เงินเดือนมากมาย จริงๆเมืองไทยเราก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะเข้าไปทำงานธนาคาร เพราะเพิ่งเข้าใจว่ามีส่วนที่รับคนจบปริญญาเอกแบบสายคณิตศาสตร์เหมือนกัน แต่นั่นล่ะครับอาจจะยังไม่เปิดกว้างให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเหมือนในต่างประเทศ
อีกประเด็นที่สำคัญคือครูที่สอนฟิสิกส์น้องๆนั้นสำคัญมากๆเพราะหากครูเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองสอนดีครูน่าจะนำเสนอสิ่งนั้นออกมาได้อย่างไม่น่าเบื่อทำให้มันเข้าใจง่าย เรียนฟิสิกส์จากความเข้าใจมากกว่าการท่องสูตรเพื่อไปแก้โจทย์ คือทำอย่างไรที่เราจะสามารถมีครูที่ถึงเวลาเรียนแล้วนักเรียนอยากมานั่งเรียนกับครูตลอด สำหรับตัวเองประสบการณ์ตรง(เราไม่ได้จะว่าโรงเรียนแต่มันเป็นความจริงที่ต้องได้รับการแก้ไข)ตอนเรียน ม ปลาย ครูที่มาสอนเหมือนไม่ได้รู้จริง เข้ามาพูดฟิสิกส์อยู่ 2 นาทีนอกนั้นพูดเรื่องอื่นจนหมดคาบ พอเปลี่ยนภาคการศึกษาครูไม่พอสอนให้ครูชีวะมานั้งสอนฟิสิกส์สิ่งที่ครูทำคือเปิดหนังสือแล้วอ่านตาม(อันนี้ไม่ได้โทษครูเลยโทษระบบ)อย่างนี้นักเรียนก็เบื่อ แต่ในทางกลับกันชอบเรียนคณิตศาสตร์เพราะครูสอนสนุกมากๆ อยากเข้าเรียนตลอดอะไรทำนองนี้(ปัจจุบันยังคิดถึงครูเสมอ) อีกประเด็นครูต้องตามกระแสโลกตลอดว่าเขาทำอะไรไปถึงไหนแล้ว จากนั้นครูสามารถเอาไปเล่าให้เด็กฟังได้เป็นการเพิ่มแรงบันดาลใจ
จากประสบการณ์เป็นอาจารย์ที่ไทยมาหลายปี คุณมองว่าอะไรที่ทำให้ตลาดแรงงานในต่างประเทศกับตลาดแรงงานไทยมองคุณค่าของนักเรียนฟิสิกส์แตกต่างกันขนาดนั้นครับ และคุณคิดอย่างไร ควรแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่
ต่างกันมากๆครับ เราเถียงไม่ได้ครับว่าอาชีพในอุดมคติในเมืองไทยคือ หมอ และ วิศวกร เพราะแน่นอนครับว่าทั้ง 2 เป็นอาชีพที่ได้รับเงินเยอะ พ่อแม่มองว่ามั่นคง เรื่องแก้นั้นคิดว่ายากครับเพราะเราติดกับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา(กำลังแบบนี้มานานมากๆแล้ว แล้วก็คิดว่าน่าจะกำลังแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ) เราเปิดรับให้มีการลงทุนทำโรงงานจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ แต่เราไม่ได้เป็นประเทศที่ลงทุนลงมือคิดสร้างสิ่งเหล่านี้เอง ว่ากันง่ายๆคือเขามาจ้างแรงงานเรานั้นเองหากเขาไปเราก็ไม่ได้อะไรเพราะห้องแลปที่คิดนวัตกรรมใหม่ๆจริงๆ(ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสร์พื้นฐานและวิศวกรรม)ไม่ได้อยู่ในบ้านเราแต่หากอยู่ในบ้านเมืองต้นทาง(หากจะมีอยู่บ้างก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย) ด้วยเหตุผลอย่างนี้อาชีพวิศวกรจึงมีความจำเป็นอันดับที่ 1 (ในสายโรงงาน)ในการเข้าไปดูสายผลิต สำหรับอาชีพหมอนั้นแน่นอนครับอันดับ 1 ตลอดกาลเพราะภาพของหมอนั้นดูดีมีชาติตระกูลครับ ฮาาาาาา จริงๆมีอาชีพอื่นๆอีกที่ไม่ได้กล่าวแต่แน่นอนว่านักฟิสิกส์นี้น่าจะติดอันดับท้ายสุดครับ ว่าง่ายๆพูดไปคนอาจจะงงว่าทำอะไรด้วยซ้ำไป อ้อลืมไปว่าตอนนี้อาชีพนิติวิทยาศาสตร์ก็รับนักฟิสิกส์
เรื่องที่ว่าจะแก้ไขยังไงนั้นคงต้องหลายภาคส่วนมากๆครับ ทั้งรัฐบาล ทั้งพ่อแม่ และพวกเรากันเอง การทำให้เด็กๆเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเข้าใจว่ามันคือพื้นฐานของเกือบทุกอย่างนั้นสำคัญมากๆ จริงๆการลงทุนของรัฐบาลในการอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถของวิทยาศาสตร์นั้นก็สำคัญมากๆเหมือนกัน เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นี้ก็อาจจะช่วยกระตุ้นก็เป็นไปได้(คิดเอง)
สิ่งที่สำคัญอีกอันคือ เรายังไม่มีนักฟิสิกส์ชื่อเสียงระดับโลก เช่น นักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลใหญ่ๆ เช่น รางวัลโนเบล หากว่าในวันหน้ามี ผมเชื่อว่าวงการฟิสิกส์จะต้องได้รับความสนใจมากๆแน่ๆครับ
แต่ในความรู้สึกจริงๆในปัจจุบันสังคมฟิสิกส์ในบ้านเรานั้นก็ถือได้ว่าก้าวหน้ามากๆครับ เพราะตอนนี้มีน้องๆจบมาใหม่ๆกลับมาทำงานมากมาย มีความรู้ในเรื่องใหม่เป็นงานวิจัยในกระแสของโลก ดังนั้นเด็กๆของเราก็มีโอกาสมากขึ้นแล้วครับ
กลับมาเรื่องวิจัย สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไทยเอื้อต่อทิศทางงานวิจัยที่คุณสนใจไหมและเพราะอะไรครับ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างครับ
พูดจริงๆก็ต้องพยายามครับ เพราะเมื่อเรากลับมาเป็นอาจารย์มีภาระหน้าทีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสอน อื่นๆบลาๆๆ การจัดสรรค์เวลาเพื่อทำงานวิจัยนั้นสำคัญ ในบางครั้งเราอาจจะต้องเลือกทำน้อยในบางอย่างเพื่อที่จะได้ทำมากในบางอย่าง(ซึ่งตรงนี้คนอาจจะมองว่าเราเห็นแก่ตัว แต่ในส่วนตัวคิดว่าเมื่อเราทำได้มหาลัยก็ได้ วินๆ) อีกอย่างการอยู่ตัวคนเดียวนั้นก็อาจจะทำให้ขยับทำอะไรลำบาก ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนนั้นก็สำคัญในแง่ของการต่อรองและที่สำคัญที่สุดคือบรรยากาศเชิงวิชาการที่เราจะมีคนคุยด้วยถึงแม้เรื่องที่ทำวิจัยจะไม่ตรงกันซะทีเดียวก็ตาม
ในแง่ของทุนวิจัยนั้นเมื่อก่อนนั้นหาได้ไม่ลำบากมากเพราะขอได้จาก สกว หรือ วช เป็นต้น แต่เมื่อทิศทางของรัฐบาลเปลี่ยนไปเป็น 4.0 นั้นต้องบอกครับว่าลำบากเพราะเน้นในทุนงานวิจัยที่เป็นบูรณาการออกผลเป็นชิ้นเป็นอันใช้งานได้เลย โดยเฉพาะทุนบูรณาการของ วช ณ ตอนนี้ ถือว่าลำบากมากๆครับ ขอไปคือไม่ได้แน่นอนครับถ้างานเราไม่เข้ากับของคนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ถึงไม่ได้เราก็ยังคงต้องทำต่อไปครับ
ทิศทางงานวิจัยของคุณ เป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือ ปลายน้ำครับ
แน่นอนครับว่าเป็นต้นนำ้แน่ๆ ตอบได้แบบเต็มปาก โดยส่วนตัวสนใจในการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบเพราะเชื่อมั่นว่านั้นคือพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรนั้นอาจจะไม่ได้มองมากเท่าไร ว่าง่ายๆตอบสนองความอยากรู้ตัวเองล้วนๆ เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าอาจารย์ต้องหางานเป็นประยุกต์ทำบ้างนะ เราก็ครับ แต่ในใจเราไม่ได้สนใจ หรือมีกระทั่งคนพูดว่างานวิจัยของ อ สิขรินทร์ มีเรื่อยๆนะดี แต่ไม่มีประโยชน์(อะไรประมาณนี้เพราะฟังคนเล่ามาอีกที ฮาาาา) ตอนแรกที่ได้ยินก็เบื่อๆแต่ตอนนี้มองใหม่ว่าก็เท่านั้น ประโยชน์นั้นเป็นของปัจเจก เหมือนเราชอบอันนี้แต่เขาไม่ชอบ เถียงกันไปก็เท่านั้น ปัจจุบันก็ยังคงทำต่อไปและการที่เราได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆให้ได้มีอยู่บนโลกนี้ซึ่งอาจจะดูเล็กน้อยมากๆสำหรับผมก็ถือว่ามีประโยชน์มากๆแล้วครับ
จากประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศและในไทย อยากฝากอะไรให้กับน้องๆที่กำลังจะกลับมาทำงานในไทยบ้างครับ รวมถึงอยากฝากอะไรถึงเยาวชนไทยเกี่ยวกับการเลือกเรียนวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ไหมครับ
จริงๆพูดยากมากเลยครับ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกที่มีข้อดีและข้อเสีย คงไม่มีที่ไหนมีแต่ข้อดีอย่างเดียว อยากฝากบอกน้องๆว่าหากกลับมาแล้วอยากทำวิจัยต้องปักธงครับ มุ่งมั่นไม่งั้นเราจะโดนลากออกไปทำอย่างอื่นๆได้ง่ายมากๆ (จริงๆต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จอะไรในด้านงานวิจัย ปัจจุบันก็ยังต้องคลำทางอยู่และยังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ) การมีคนค่อยคุยปรับทุกข์นั้นน่าจะดีครับ แบบพี่เลี้ยงอะไรงี้ครับ เพราะพอมีปัญหาพี่เลี้ยงน่าจะแนะนำได้ในหลายๆปัญหา
สำหรับน้องๆเยาวชนหากเห็นความสวยงามและความสำคัญในฟิสิกส์ก็กระโดดเข้ามาเลยครับ(ปล แต่ต้องคุยกับที่บ้านให้รู้เรื่องนะครับ ฮาาาา) เพราะจริงๆยังมีปัญหาปลายเปิดอีกมากมายที่รอพวกเรามาตามหาคำตอบครับ แต่มีความเป็นห่วงน้องๆที่อ่านหนังสือ ป๊อปซายซ์ เพราะว่าชีวิตจริงมันกว่าจะแฟนตาซีได้ขนาดนั้นมันต้องผ่านการฝึกฝนทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มากมาย แต่อย่างไรก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆครับ
ทางทีมงาน QuTE ขอขอบคุณอาจารย์ริน ที่สละเวลามาแนะแนวคิดและตอบคำถามของพวกเราอย่างลึกซึ้งด้วยนะครับ ฝากติดตามผลงานอาจารย์ริน รวมถึงติดตามเพจฟิสิกส์หมาหมาเพื่อเพิ่มเติมความรู้วิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ร่วมสมัยฉบับย่อยง่ายครับ แล้วพบกันใหม่กับนักวิจัยในทีม QuTE คนต่อไปในตอนหน้าครับ สวัสดีครับ