วันนี้คลังนักวิจัยจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับนักฟิสิกส์ทฤษฎี (และมือกีตาร์สาย fingerstyle) จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Quantum Technologies Foundation of Thailand (QTFT) ซึ่งมีศักยภาพจุดประกาย deep tech โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมในไทย ติดตามในบทสัมภาษณ์นี้กันได้เลย!
ขอเริ่มจากแนะนำตัวนะครับ ตอนนี้กำลังทำงานอะไรที่ไหนครับ
สวัสดีครับ ชื่อทิว ( จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ) เป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับทุนโอลิมปิก วิชาการจากสถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปศึกษาต่อสาขาฟิสิกส์ ในระดับปริญญา ตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ขณะนี้กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก กับ ศ. ดร. ดิมิตริส แองเจลาคิส ที่สถาบันเทคโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ครับ
ปริญญาเอกเน้นศึกษางานด้านใดครับ
สั้นๆคือเป็นการออกแบบซอฟต์แวร์ สำหรับใช้กับควอนตัมคอมพิวเตอร์ ยาวขึ้นมาอีกนิดนึงคือ การออกแบบควอนตัมคอมพิวเตอร์ระบบอนาล็อก โดยใช้ระบบวงจรไฟฟ้าตัวนำยวดยิ่งและทัศนศาสตร์เชิงควอนตัม โดยส่วนตัวผมเป็นนักทฤษฎี แต่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับทีมพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ของบริษัทกูเกิล และได้ตีพิมพ์ร่วมกันเมื่อปี 2017 เป็นผลให้ได้รับรางวัล Google’s Quantum Innovation Award ในปี 2018 นี้ครับ
สาเหตุที่เลือกหัวข้อวิจัยดังกล่าวคืออะไร
เอาตรงๆเลยคือสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมที่สิงคโปร์นี่ มีค่าใช้จ่ายให้ค่อนข้างดีครับ แนะนำให้มาสมัครกัน คุณภาพไม่แพ้สถาบันไหนในโลกแน่นอน คณะอาจารย์ที่นี่ส่วนใหญ่ก็มาจากมหาลัยดังๆทั่วโลก และก็คิดว่าการมาอยู่ที่สิงคโปร์จะทำให้สามารถสร้างเครือข่ายกับที่ไทยได้ดีด้วย
ค่านิยมในประเทศที่พัฒนาแล้วมักให้โอกาสนักเรียนฟิสิกส์ทำงานในบริษัทชั้นแนวหน้า หากมองตามสถิติในอเมริกาจบฟิสิกส์แล้วมีรายได้สูงติด 10 อันดับแรก และเป็นเพียงหนึ่งใน 3 วุฒิการศึกษา นอกเหนือจากวิทยาการคอมพิวเตอร์และเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่ใช่วิศวกรรม ซึ่งติด 10 อันดับวุฒิการศึกษารายได้สูงในปีนี้ [อ้างอิง] แต่ค่านิยมนี้แตกต่างจากค่านิยมปัจจุบันในไทยมาก คิดเห็นอย่างไรครับ
ก็คงเป็นหน้าที่ของนักฟิสิกส์ที่จะต้องเปลี่ยนแบรนด์ตัวเองใหม่ครับ ต้องสามารถอธิบายและแสดงให้คนเห็นได้ว่านักฟิสิกส์ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตามหลัก “รู้เขา รู้เรา” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ควรต้องปรับตัวเองจากผู้สอนมาเป็นผู้เรียนก่อน คือเข้าไปเรียนรู้อย่างจริงจังว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีปัญหาอะไร
แน่นอนว่าตามหลักการแล้ว การศึกษาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ไม่ควรจะพูดถึงการประยุกต์ใช้งาน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สุดท้ายแล้วงานวิจัยเราบางส่วน ควรต้องตอบโจทย์เรื่อง ปากท้องได้
ทิศทางงานวิจัยของคุณ เป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือ ปลายน้ำครับ
เป็นปลายที่ค่อนมากลางๆ ของสายน้ำที่กำลังไหลเชี่ยวครับ
แล้วแนวทางงานวิจัยที่ดีควรมีสัดส่วน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างไรครับ?
ควรจะมีความสมดุล ไม่ใช่แค่แต่ละส่วนของลำน้ำแต่มีความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมด้วย เช่น ถ้ามีลำน้ำ แต่ไม่มีป่า สุดท้ายก็จะไม่มีฝน เป็นลำน้ำที่แห้งขอด
กลับมาเรื่องมูลนิธิที่ทิวเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันและร่วมก่อตั้ง ช่วยอธิบายจุดประสงค์ของ QTFT ให้ฟังหน่อยครับ
จุดประสงค์คือการสร้างระบบนิเวศน์ดังกล่าวครับ (ขอบคุณที่ส่งคำถามมาได้ดีมาก) เราเชื่อว่าประเทศไทยมีคนเก่งๆ เยอะแยะมากมาย นักเรียนเราได้รับเหรียญโอลิมปิกทุกปี เรามีคนจบจากมหาลัยท็อปของโลกทุกปี แต่ก็ยังเป็นที่ครหาของสังคมว่า เด็กโอลิมปิกหายไปไหน? ทำไมประเทศเราไม่ค่อยมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
มูลนิธิคิวทีเอฟที เพื่อเทคโนโลยีควอนตัมแห่งประเทศไทย ชื่อภาษาอังกฤษว่า Quantum Technologies Foundation of Thailand ( QTFT ) ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่เชื่อว่า คนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เราต้องมีระบบนิเวศน์ ที่ก่อให้เกิดร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยต่างสาขา รวมถึงนักลงทุน และผู้ประกอบกิจการ ทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะแชร์ความรู้ของตัวเองในภาษาที่ง่ายๆ และเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ
โดยคิวทีเอฟที จะมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ดังกล่าวผ่านธีม “เทคโนโลยีควอนตัม” ซึ่งจะครอบคลุมหลากหลายเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสาระสนเทศ การสื่อสาร และระบบเซนเซอร์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน การออกแบบยา การออกแบบวัสดุ การสื่อสารผ่านดาวเทียม การเข้ารหัสลับ ระบบตรวจรักษาโรค ระบบตรวจจับน้ำมัน ฯลฯ
ยอดเยี่ยมไปเลยครับ แล้วนักวิทยาศาสตร์ไทยจะมีส่วนร่วมใน QTFT ได้อย่างไรบ้างครับ
เราจะเปิดตัวเป็นทางการปีหน้านี้ ในระหว่างนี้ก็มี online community ซึ่งมีการจัด webminar ให้ผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง ใครสนใจทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อมาได้ที่ jirawat@qtft.org ไม่จำกัดเฉพาะนักวิจัยเท่านั้น
สุดท้าย อยากฝากอะไรให้น้องๆหรือเพื่อนๆที่สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบ้างครับ
ผมอยากบอกน้องๆว่าเรามีชีวิตเดียว แล้วก็ไม่ได้ยาวนานมากนัก คุณเลือกที่จะเอาดีจริงๆได้ไม่กี่อย่าง ถ้า คุณรู้อยู่แก่ใจว่าคุณชอบวิทยาศาสตร์ แต่เลือกที่จะทิ้งมันด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็อาจจะเป็นทางที่ถูกต้อง สำหรับคุณ แต่คุณก็อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบที่สัญชาตญาณคุณบอก ถ้าคุณเห็นว่า เส้นทางนี้มันยังไม่มีอะไร คุณก็สร้างให้มันมี และทิ้งไว้เป็น “อนุสรณ์ชีวิต” ของคุณให้กับคนรุ่นต่อไป
อ่านแล้วไฟในตัวลุกเลยไหมครับเพื่อนๆ ใครมี passion อยากช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ใช้ความรู้ขั้นสูง ติดต่อทิวได้ที่ jirawat@qtft.org ทีม QuTE ต้องขอขอบคุณทิวมากๆที่เสียสละเวลาตอบบทสัมภาษณ์ครับ ขอให้โชคดีกับก้าวต่อไปนะครับ ทีมเราเอาใจช่วยครับ!