สวัสดีครับ เราหายไปนานเลยคับ ฮาาาา เนื่องจากหยุดปีใหม่เราก็ต้องพักผ่อนครับ เอาละครับเรากลับมาแล้วพร้อมกับบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ปฏิภาณ อุทยารัตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีหนุ่มไฟแรง เอาล่ะครับเพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปทำความรู้จักกับเขากันเลยครับ
1. รบกวนแนะนำตัวเองหน่อยครับ เรียนจบโทกับเอกที่ไหนครับ ปัจจุบันทำงานอะไร
ผมเรียนจบปริญญาโทและเอกที่ University of California, San Diego (UCSD) โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ Ben Kenobi เอ่ย Ben Grinstein ครับ ส่วน UCSD เป็นมหาลัยในเมืองที่ติด Mexico อยู่ทางใต้สุดของรัฐ California เลยมีอาหาร Mexican อร่อยๆกินตลอดเวลาครับ ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
2. ช่วยอธิบายวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้ฟังหน่อยครับ
ตอนปริญญาเอกผมศึกษาเกี่ยวกับ electroweak symmetry breaking ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าการแตกตัวของสมมาตรแม่เหล็กไฟฟ้าอ่อน (การแปลเป็นภาษาไทยยิ่งทำให้งง) ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆคือหลักการทางฟิสิกส์ที่เรารู้จักในปัจจุบันเป็นผลมาจากการมีสมมาตรบางอย่างอยู่ในธรรมชาติ เช่นหลักสัมพันธภาพพิเศษเป็นผลมาจากสมมาตรลอเร็นทซ์ (Lorentz symmetry) กฎการอนุรักษ์พลังงาน โมเมนตัมเชิงเส้น และโมเมนตัมเชิงมุมเป็นผลของสมมาตรปวงกาเร (Poincare symmetry) นอกจากนี้ในธรรมชาติเรายังมี electroweak symmetry เป็นสมมาตรที่ควบคุมอันตรกิริยาของอนุภาคพื้นฐานเช่น อิเลคตรอน มิวออน ดับเบิลยูโบซอน เป็นต้น ทีนี้สมมาตรตัวนี้ดูเหมือนว่าจะห้ามไม่ให้อนุภาคพื้นฐานเหล่ามีมวลขึ้นมาได้ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกและผลการทดลองอีกมากมายที่สามารถวัดมวลของพวกมันได้อย่างละเอียด แต่เนื่องจากอันตรกิริยาที่ถูกควบคุมด้วยสมมาตร electroweak นี้ให้ผลการทำนายในอีกหลายๆด้านได้อย่างแม่นยำตรงตามผลการทดลองที่เราวัดได้ (ในปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่มีความแม่นยำสูงสุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา) เราจึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้อนุภาคพื้นฐานเหล่านี้มีมวลขึ้นมาได้โดยไม่ขัดแย้งกับสมมาตร electroweak ซึ่งแนวคิดดังกล่าวคือการซ่อนสมมาตร (spontaneous symmetry breaking) นั่นคือเราบอกว่าจริงๆแล้วมีสมมาตรอยู่ในธรรมชาติ เพียงแต่ว่าในสถานะที่เราอยู่ (ground state) เราไม่สามารถมองเห็นผลของสมมาตรได้ชัดเจน เราจึงเห็นอนุภาคพื้นฐานมีมวลขึ้นมาได้ กระบวนการซ่อนสมมาตรนี้รู้จักกันในชื่อกระบวนการฮิกส์ (Higgs mechanism) ซึ่งผลที่ตามมาของกระบวนการฮิกส์คือเราจะมีอนุภาคฮิกส์โบซอนเกิดขึ้นมา
งานปริญญาเอกของผม(เกริ่นถึงปัญหามาตั้งนานเพิ่งจะได้เข้าเรื่อง)คือการศึกษากระบวนการ ฮิกส์และผลที่เกิดขึ้นในแบบจำลองที่แก้ปัญหาเกี่ยวกับมวลของอนุภาคฮิกส์โบซอนที่ดูเหมือนจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก (ปัจจุบันเราพบว่าอนุภาคฮิกส์โบซอนมีมวลอยู่ที่ 125 GeV แต่ในทางทฤษฎีมวลของมันควรจะอยู่ที่ระดับ 1019 GeV)
3. ตัดสินใจอย่างไรถึงเลือกหัวข้อวิจัยดังกล่าวครับ
ตอนที่ผมเริ่มเรียนปริญญาโท-เอก (ช่วงปี พ.ศ. 2549) เป็นช่วงที่ค่อนข้างสำคัญในประวัติศาสตร์คือมี รัฐประหารเกิดขึ้น (ไม่ใช่ละ) เครื่องเร่งอนุภาค LHC กำลังจะเริ่มดำเนินการพอดี ซึ่งในตอนนั้นเราคาดหวังว่าเครื่องเร่งอนุภาค LHC จะทำให้เราค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอน (ซึ่งเราค้นพบในปี พ.ศ. 2555) และทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ๆอีกมากมาย เช่นสมมาตรยิ่งยวด (supersymmetry) มิติพิเศษ (extradimension) เป็นต้น ทำให้การศึกษาฟิสิกส์อนุภาคจึงเป็นเรื่องที่ดูน่าตื่นเต้นสำหรับผม
4. ช่วยอธิบายงานชิ้นโบว์แดงให้ฟังหน่อยครับ
งานที่ผมคิดว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของผมคือการสร้างแบบจำลองที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนในทางคณิตศาสตร์ว่าเราสามารถซ่อนสมมาตรการเปลี่ยนสเกลได้ (spontaneous breaking of scale symmetry) นั่นคือเราสามารถคำนวนผลต่างๆของแบบจำลองได้อย่างแม่นยำโดยใช้ทฤษฎี perturbation ซึ่งผลที่สำคัญของแบบจำลองที่ผมสร้างคืออนุภาคที่เกิดจากการซ่อนสมมาตรสเกล (dilaton) สามารถมีมวลเล็กขนาดไหนก็ได้ (ไม่มีมวลก็ได้) ซึ่งมาหักล้างความเชื่อทั่วไปในตอนนั้นซึ่งมีฐานมาจากทฤษฎี QCD (quantum chromodynamics) ที่เราคิดว่าควรจะมีช่องว่างมวล (mass gap) อยู่ทำให้อนุภาค dilaton ไม่สามารถมีมวลเป็นศูนย์ได้
5. หลายคนหลีกเลี่ยงการเรียนฟิสิกส์ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเรียนก็ยาก หางานก็ยาก แต่ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ หรือ จีน เรียนจบฟิสิกส์นี่เนื้อหอมเป็นที่ต้องการตัวของบริษัทชั้นแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็น Google Facebook Alibaba หรือทำงานใน Wall Street ได้สบาย เพราะเขาเชื่อในความพยายามและความสามารถในการเรียนรู้หน้างานของนักเรียนฟิสิกส์ (จบหลักสูตรยากแปลว่าต้องมีความอุตสาหะ รักความท้าทาย และต้องมีความสามารถในระดับหนึ่งล่ะ) แต่ค่านิยมตะวันตกนี้แตกต่างจากค่านิยมปัจจุบันในไทยมาก ซึ่งเชื่อว่าคนที่จบวิทยาศาสตร์ต้องอยู่ตามห้องแลบเป็นเนิร์ด เงินเดือนน้อย คิดเห็นอย่างไรกับค่านิยมนี้ครับ
ผมคิดว่าส่วนนึงมาจากวัฒนธรรมไทยที่ไม่ค่อยสนับสนุนให้มีการคิดต่างมากเท่าไหร่ ทำให้การมองนอกกรอบแล้วเอาทักษะและความรู้ฟิสิกส์(หรือวิทยาศาสตร์)ไปจับกับเรื่องอื่นเกิดขึ้นได้ยาก เราจึงมีความคิดยึดติดว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วต้องทำงานวิทยาศาสตร์ แต่ผมคิดว่าสถานการณ์นี้เริ่มดีขึ้นแล้ว ประเทศไทยเริ่มมีคนที่เรียนจบป.เอกฟิสิกส์ ป.เอกคณิตศาสตร์ทำงานในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น บริษัท Thai Bev Logistic ก็มี (deputy) managing director ที่จบ ป.เอก คณิตศาสตร์เป็นต้น (ไม่แน่ใจว่าตอนนี้พี่เค้ามีตำแหน่งอะไรแล้ว)
6. จากประสบการณ์เป็นอาจารย์ที่ไทยมาหลายปี คุณมองว่าอะไรที่ทำให้ตลาดแรงงานในต่างประเทศกับตลาดแรงงานไทยมองคุณค่าของนักเรียนฟิสิกส์แตกต่างกันขนาดนั้นครับ และคุณคิดอย่างไร ควรแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่
เป็นอาจารย์ที่ไทยมาสี่ปีเองไม่น่าจะเรียกว่าหลายปีนะ แต่ถ้าผมมองผมมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามุ่งเน้นผลิตนักเรียนฟิสิกส์มากเกินไปโดยอาจจะละเลยเรื่องคุณภาพไปบ้าง (เนื่องจากภาคฟิสิกส์หลายที่ถูกบีบให้รับนักเรียนให้ได้จำนวนมากพอที่หลักสูตรจะคุ้มทุน จนบางครั้งอาจจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของนักเรียนได้ดีเท่าที่ควร) แต่ถ้าเราสามารถผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาโดยใช้หลักฟิสิกส์/วิทยาศาสตร์ที่ดีออกมาได้ ตลาดแรงงานก็จะมองคุณค่าของนักเรียนที่จบฟิสิกส์ดีขึ้นเอง
7. กลับมาเรื่องวิจัย สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไทยเอื้อต่อทิศทางงานวิจัยที่คุณสนใจไหมและเพราะอะไรครับ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างครับ
ถ้าจะพูดกันตรงๆ การทำงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้พื้นฐานในประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุน เท่าที่ควร โดยเฉพาะการสร้างวาทกรรม “งานวิจัยขึ้นหิ้ง เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้” ทั้งที่จริงๆแล้วกระบวนการการทำงานวิจัยพื้นฐานเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู้การสร้างเทคโนโลยีและ นวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อผมพูดอย่างนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการพูดไปเรื่อย ไม่มีอะไรมาสนับสนุน ดังนั้นผมจะขอยกตัวอย่าง ของกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในวงการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค ซึ่งมุ้งเน้นหาว่าอนุภาคพื้นฐานมีอะไรบ้าง (ฟังดูเหมือนงานวิจัยขึ้นหิ้งไม่มีประโยชน์) ในการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคเราพบว่าเราต้องจัดการกับข้อมูลมหาศาล เราจำเป็นต้องมีการกระจายข้อมูลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้นักวิจัยในทีมเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง (ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆทั่วโลก) ทำให้เราได้พัฒนาระบบอินเตอร์เนทขึ้นมาใช้ แน่นอนว่าตอนนี้คนทั่วไปมีอินเตอร์เนทใช้อย่างแผ่หลายซึ่งเป็นผลประโยชน์โดยตรงที่เกิดมาจากการกระบวนการทำงานวิจัยสร้างองค์ฺความรู้พื้นฐาน ไม่เพียงแต่อินเตอร์เนท เรามีเทคโนโลยีในการตรวจวัดอนุภาค การควบคุมลำอนุภาค ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยี CT scan และ proton therapy ที่มีความแม่นยำสูงและเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์
หลังจากบ่นมายาวพอแล้วก็ควรจะต้องตอบคำถามซักที สถาพแวดล้อมในการทำงานที่ไทยของผมไม่ค่อยมีอุปสรรคเท่าไหร่ (อ่าว แล้วจะบ่นทำไม) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาควิชาฟิสิกส์ที่ มศว ให้อิศระในการทำวิจัยกับผมได้เต็มที่ และยังมีการตั้งหน่วยวิจัยฟิสิกส์ทฤษฎีพลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ หรือชื่อเล่นว่าเท่ปะ ช่วยให้เกิดบรรยากาศการทำวิจัยที่ดี (ถ้าใครสนใจสามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของหน่วยวิจัยได้ที่ facebook.com/THEPASWU) นอกจากนี้ผมยังได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากสภาการวิจัยแห่งชาติ(สกว) ทำใหสามารถทำงานวิจัยไปได้อย่างราบรื่น ถ้าจะมีอุปสรรค์เพียงอย่างเดียวที่ผมเจอคือภาระงานสอนที่ค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันสอนมา 4 ปีแล้วก็ยังรู้สึกว่าต้องใช้เวลาเตรียมตัวสอนเยอะอยู่ ส่วนนึงเพราะผมไม่ชอบสอนวิชาเดิมซ้ำไปนานๆ เนื่องจากผมเบื่อง่ายและคิดว่าการสอนอยู่แต่วิชาเดิมนานๆจะทำให้เราลืมเนื้อหาของวิชาอื่น เลยเปลี่ยนวิชาสอนใหม่เกือบทุกเทอม ตอนนี้สอนวิชาพื้นฐานเกือบจะครบทุกตัวแล้ว (อีกหน่อยคงไม่จำเป็นต้องเตรียมสอนแล้ว ไม่รู้อันนี้นับเป็นการปรับตัวได้รึเปล่า)
8. ทิศทางงานวิจัยของคุณ เป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือ ปลายน้ำครับ
แน่นอนว่างานวิจัยของผมเป็นงานต้นน้ำครับ เรามุ่งเน้นศึกษาหาองค์ความรู้พื้นฐานว่าธรรมชาติที่หน่วยที่เล็กที่สุดทำงานอย่างไร เราต้องการจะหากฎเกณ์และ building block ที่จะมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เราสังเกตได้เป็นหลัก โดยที่เราอาจจะไม่คำนึงถึงการนำความรู้พวกนี้(หรือความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง)ไปใช้ประโยช์ในชีวิตประจำวันโดยตรงเท่าไหร่
9. คิดว่าแนวทางงานวิจัยที่ดีควรมีสัดส่วน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างไรบ้างครับ?
รู้สึกว่าคำถามค่อนข้างปลายเปิด จะขอตอบแบบนี้ละกันครับ
สำหรับนักวิจัยแต่ละคนเลือกทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนเองถนัดก็พอ อยากจะขอยกคำพูดของ Donna Strickland นักฟิสิกส์หญิงที่เพิ่งจะได้รางวัลโนเบลปีล่าสุดไปว่า “… The world works best if we’re doing what we’re good at. So did I ever think ‘Oh, I should be doing something to help humanity?’ No, I just think if we all do what we’re really good at it just helps the world.”
ส่วนถ้าหมายถึงว่าประเทศไทย(รัฐ) ควรจะสนับสนุนงานวิจัยต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำเป็นเป็นสัดส่วนอย่างไร อันนี้จะขอตอบว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับต้นน้ำและกลางน้ำเป็นหลักๆ เพราะจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประเทศเกิดความก้าวหน้าแต่อาจจะไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่วนงานวิจัยปลายน้ำรัฐไม่ควรจะเป็นผู้สนับหลักควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่าเพราะเป็นอะไรที่จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น อันนี้อาจจะต้องขอยอมรับว่ามุมมองของผมขัดกับไทยแลนด์ 4.0 อย่างชัดเจน ฮ่าๆ
10. จากประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศและในไทย อยากฝากอะไรให้กับน้องๆที่กำลังจะกลับมาทำงานในไทยบ้างครับ รวมถึงอยากฝากอะไรถึงเยาวชนไทยเกี่ยวกับการเลือกเรียนวิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์ไหมครับ
สำหรับน้องๆที่กำลังตัดสินใจเลือกมาเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะฟิสิกส์ ขอพูดแบบไม่โลกสวยเลยละกันว่า ฟิสิกส์เป็นศาสตร์ที่ยาก และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ ถ้าน้องๆไม่ได้รักและชอบมันจริงๆคงจะมีชีวิตเป็นนักฟิสิกส์ที่มีความสุขยาก แต่ในอีกแง่หนึ่งการเป็นนักฟิสิกส์สำหรับผมเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าทางจิตใจมหาศาล โดยเฉพาะตอนที่เราได้ค้นพบหรือเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เคยเข้าใจมาก่อนมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ นอกจากนี้เรายังได้ใช้ความรู้และสติปัญญาของเราในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราสนใจและเห็นว่าสำคัญ (แทนที่จะเป็นปัญญาที่คนอื่นสนใจและคิดว่าสำคัญ) ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขในการเป็นนักฟิสิกส์ครับ
ส่วนน้องๆที่กำลังจะกลับมาทำงานที่ไทยอยากจะฝากบอกว่าเรียนจบแล้วยังไม่ต้องรีบกลับมาก็ได้ เก็บเกี่ยวประสปการณ์ทำวิจัยหลังปริญญาเอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะช่วงเวลานี้เราทำวิจัยได้เต็มที่ไม่ต้องมากังวลเรื่องงานสอน การหาทุนทำวิจัย อีกทั้งเรายังได้สร้าง connection ซึ่งจะมีประโยชน์กับเรามากเมื่อเรากลับมาเริ่มตั้งตัวทำงานวิจัยของตัวเองที่ไทย
##############################################
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทสัมภาษณ์อันสนุกสนานแทรกด้วยมุขตลอดการตอบ แอดชอบมากๆครับ ฮาาาาา หากใครสนใจงานวิจัยทางด้านกลไกของฮิกส์หรือใกล้เคียง แอดเชื่อว่า อ.ปฏิภาณ อุทยารัตน์ เป็นตัวผู้เล่นหลักคนหนึ่งของเมืองไทยเลยคครับ เพราะฉนั้นติดต่ออาจารย์ไปได้เลยครับ หรือหากใครสนใจไปเรียนหรือทำวิจัยที่ มศว ก็ลองเข้าไปเชี่ยมชมกลุ่มวิจัยตามลิคก์ที่ให้ไว้ด้านบนก็ได้นะครับ
สำหรับวันนี้ทางทีม QuTE ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.ปฏิภาณ อุทยารัตน์ เป็นอย่างมากนะครับที่เสียสละเวลามาให้คำสัมภาษณ์ซึ่งทางทีมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กรุ่นใหม่อย่างแน่นอนครับ ยังไงวันนี้ทางทีมของขอลาไปก่อนแล้วเราจะกลับมาพร้อมกับบทสัมภาษณ์ของนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรของไทยในคราวหน้าต่อไปนะครับ บายยยยยยยยยยยยย